อุทยานแห่งชาติถ้ำสะเกินครอบคลุมพื้นที่เทือกเขาสูงตอนปลายแห่งทิวเขาหลวง พระบาง ซึ่งทอดตัวยาวต่อเนื่อง ไปจนถึงเขตแดนประเทศลาว สภาพธรรมชาติยังอุดมด้วยผืนป่าสมบูรณ์ ถ้ำขนาดใหญ่ น้ำตกงดงาม และจุดชมทะเลหมอก อุทยานแห่งชาติถ้ำสะเกินมีพื้นที่ทั้งหมด 155,200 ไร่ หรือ 248.32 ตารางกิโลเมตร อยู่ในท้องที่อำเภอท่าวังผา อำเภอเชียงกลาง อำเภอทุ่งช้าง อำเภอสองแคว จังหวัดน่าน และอำเภอเชียงคำ อำเภอปง จังหวัดพะเยา เมื่อปี พ.ศ. 2539 นายวิทยา หงษ์เวียงจันทร์ ตำแหน่งนักวิชาการป่าไม้ 5 ทำหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยภูคา จังหวัดน่าน ได้ทำการสำรวจพื้นที่อุทยานแห่งชาติถ้ำสะเกินและพื้นที่โดยรอบ ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำยาว และป่าน้ำสวด อำเภอสองแคว จังหวัดน่าน พบว่ายังมีสภาพสมบูรณ์เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารลุ่มน้ำ ชั้น 1 เอ มีจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง เนื้อที่ประมาณ 280,000 ไร่ เป็นพื้นที่เหมาะสม ที่จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ จึงได้รายงานมายังกรมป่าไม้ กรมป่าไม้พิจารณาแล้วได้สั่งการให้ นายธนศาสตร์ เวียงสารวิน ตำแหน่งนักวิชาการป่าไม้ 5 อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ ปฏิบัติงานประจำอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์และจังหวัดเลย ไปดำเนินการสำรวจข้อมูลสภาพป่ารายละเอียดในพื้นที่บริเวณดังกล่าวและบริเวณ ใกล้เคียง ที่มีความเหมาะสมเป็นอุทยานแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2539 โดยให้จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ และทำหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาตินี้ด้วย ต่อมากรมป่าไม้ได้มีคำสั่งให้ นายประดิษฐ์ เลิศลักษณ์ศิริกุล ตำแหน่งเจ้าพนักงานป่าไม้ 5 ประจำอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี ไปปฏิบัติงานทำหน้าที่ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติถ้ำสะเกินแทน นาย ธนศาสตร์ เวียงสารวิน โดยเริ่มปฏิบัติงานในหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม 2542 โดยได้สำรวจพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าน้ำยาวและป่าน้ำสวด (ประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2531) ในท้องที่อำเภอท่าวังผา อำเภอเชียงกาง อำเภอทุ่งช้าง และอำเภอสองแคว จังหวัดน่าน ป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำเปื๋อย ป่าน้ำหย่วน และป่าน้ำลาว ท้องที่อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา และป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ยม ท้องที่อำเภอปง (เดิมขึ้นอยู่กับจังหวัดเชียงราย ปัจจุบันท้องที่อำเภอปง ขึ้นอยู่กับจังหวัดพะเยา) เพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติต่อไป
ลักษณะภูมิประเทศ
เป็นเทือก เขาสูงสลับซับซ้อนวางตัวในแนวเหนือใต้ คล้ายรูปตัว T ตัวเขียนใหญ่ในภาษาอังกฤษ ระดับความสูงของพื้นที่ประมาณ 300 - 1,752 เมตร จากระดับน้ำทะเล มียอดเขาที่สูงที่สุด คือ ยอดดอยจี๋ มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,752 เมตร เป็นพื้นที่ต้นกำเนิดของลุ่มน้ำถึงสามลุ่มน้ำด้วยกัน คือ ลุ่มน้ำยมตอนบน ลุ่มน้ำยาวตอนบน และลุ่มน้ำลาว ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของลำน้ำสายหลักของประเทศ คือ ลำน้ำยม และ ลำน้ำน่าน อันเป็นแม่น้ำสำคัญสายหลัก ในการประกอบอาชีพเกษตรของราษฎรริมสองลำน้ำ |
ลักษณะภูมิอากาศ
เป็นแบบ มรสุมเขตร้อน โดยได้รับอิทธิพลจาก ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ในช่วงฤดูฝน และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงฤดูหนาว ภูมิอากาศแบ่งออกเป็น 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน ตั้งแต่เดือนมีนาคม-เมษายน ฤดูฝนตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-ตุลาคม และฤดูหนาวตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุดต่อปีประมาณ 8 องศาเซลเซียส อุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดต่อปีประมาณ 41 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปีประมาณ 1,211 มิลลิเมตร |
พรรณไม้และสัตว์ป่า
สภาพป่าประกอบด้วย ป่าดิบเขา พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ ไม้ก่อชนิดต่าง ๆ พญาไม้ พญาเสือโคร่ง มะขามป้อมดง สนสามพันปี อบเชย กฤษณา ไม้พื้นล่างได้แก่ มอส เฟินชนิดต่างๆ ป่าดิบชื้น พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ ยาง กระบาก สมพง ลำพูป่า กระทุ่ม พืชพื้นล่างได้แก่ กูดต้น กูดพร้าว เอื้องกุหลาบพวง เป็นต้น ป่าดิบแล้ง พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ ยางแดง ยางขาว ตะเคียน ตะแบก มะม่วงป่า พืชพื้นล่างได้แก่ ไผ่ หวาย เฟิน ปาล์ม ต๋าว เป็นต้น ป่าเบญจพรรณ พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ มะค่าโมง สมอภิเพก ตะคร้อ เสี้ยว ดอกขาว พืชพื้นล่างได้แก่ หญ้าแฝก หญ้าคมบาง และพืชในวงศ์ ขิง ข่า เป็นต้น จากการสำรวจพบว่าสัตว์ป่าส่วนใหญ่เป็นสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนมซึ่งมีตั้งแต่ ขนาดกลางจนถึงขนาดเล็ก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ปีก ได้แก่ เสือ เลียงผา เก้ง หมูป่า กระรอก กระแต หมาไน เหยี่ยว นกขุนทอง และนกเขา เป็นต้น |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น